ประเด็นร้อน

เริ่มแล้ว หลักสูตร Anti-Corruption Education สร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต

โดย ACT โพสเมื่อ Jul 31,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก อิศรา - -

 

“ผมมีความหวัง ความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่า เราเดินมาถูกทาง ได้รับการสนับสนุนอย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ และคนที่มาร่วมกับป.ป.ช.สร้างหลักสูตรท่านมีคุณูปการมาก รวมทั้งคณะรัฐมนตรีที่ใจกว้างยอมให้เอาหลักสูตรนี้เข้าไปอยู่ในระบบการศึกษา”


ยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ.2560-2564) ยุทธศาสตร์ที่ 1 "สร้างสังคมไม่ทนต่อการทุจริต" ที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญในกระบวนการปรับสภาพสังคมให้เกิดภาวะที่ "ไม่ทนต่อการทุจริต" โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมในทุกระดับช่วงวัย ตั้งแต่ปฐมวัยให้สามารถแยกระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวมได้นั้น 


มีคำถามว่า "ไม่ทนต่อการทุจริต"  ป.ป.ช.จะต้องทำอะไรบ้าง ? 


คำตอบของคำถามนี้  สำหรับยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 ก็คือการสร้างหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา (Anti-Corruption Education) ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ มากมาย โดยป.ป.ช.แค่ประสานงาน จัดตั้งอนุกรรมการจัดทำหลักสูตรหรือชุดการเรียนรู้และสื่อประกอบการเรียนรู้ด้านการป้องกันการทุจริตขึ้นมา  


จนกระทั่งได้ 5 หลักสูตร ดังนี้ 


1.หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รายวิชาเพิ่มเติม การป้องกันการทุจริต) 


2.หลักสูตรอุดมศึกษา (วัยใส ในสะอาด "Youngster with good Heart) 


3.หลักสูตรกลุ่มทหาร และตำรวจ (ตามแนวทางรับราชการ กลุ่มทหารและตำรวจ) 


4.วิทยากร ป.ป.ช./บุคลากรภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ (สร้างวิทยากรผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมไม่ทนต่อการทุจริต) 


5.หลักสูตรโค้ช (โค้ชเพื่อการรู้คิดต้านทุจริต) 


corrup2707ทั้ง 5 หลักสูตร คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 เห็นชอบแล้วตามที่ ป.ป.ช.เสนอ ทั้งนี้ยังได้ให้หน่วยงาน อย่างเช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงาน ก.พ. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณานำหลักสูตรไปปรับใช้ในโครงการฝึกอบรมหลักสูตรข้าราชการ บุคลากรภาครัฐ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจที่บรรจุใหม่  


เนื้อหาหลักสูตร ประกอบไปด้วย 4 ชุดวิชา


1.การคิดแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม


2.ความอายและความไม่ทนต่อการทุจริต


3. STRONG:จิตพอเพียงต้านทุจริต


และ 4. พลเมืองและความรับผิดชอบต่อสังคม 


“ผู้ร่างหลักสูตรฯ บอกว่า เราจะพยายามฝังชิปในเด็กของเราทุกคน ลูกหลานของเราทุกคนที่อยู่ในระบบการเรียน การศึกษาภาคบังคับ เด็กอนุบาลจะถูกปลูกฝังให้รู้จักแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม” พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าว และชี้ว่า ช่วงเวลา 15 ปี ระบบคิดแยกแยะไม่ทนต่อการทุจริต จะกลายเป็นอัตโนมัติ เหมือนช่วงที่สังคมไทยมีการณรงค์ไม่สูบบุหรี่ 


ส่วนหลักสูตรกลุ่มทหาร และตำรวจนั้น ประธานกรรมการ ป.ป.ช. บอกว่า ข้าราชการทหาร ตำรวจถือเป็นกลุ่มบุคคลที่มีจำนวนมาก และมีหลักสูตรอบรมอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว เราทำหลักสูตรขึ้นมาเพื่อให้ไปเสริมในหลักสูตรอบรมประจำเท่านั้น 


โดยรายละเอียดเนื้อหาหลักสูตรตามแนวทางรับราชการกลุ่มทหารและตำรวจจะเน้นสาระสำคัญของการวิเคราะห์ แยกแยะขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม   ความละอายและความไม่ทนต่อการทุจริต วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ตนเองและตระหนักถึงความละอายและไม่ต่อการทุจริตจนสามารถส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้อื่นเกิดความละอายและความไม่ทนต่อการทุจริตได้ เป็นต้น  


“ผมมีความหวัง ความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่า เราเดินมาถูกทาง ได้รับการสนับสนุนอย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ และคนที่มาร่วมกับป.ป.ช.สร้างหลักสูตรท่านมีคุณูปการมาก รวมทั้งคณะรัฐมนตรีชุดนี้ที่ใจกว้างยอมให้เอาหลักสูตรนี้เข้าไปอยู่ในระบบการศึกษา” 


สุดท้าย พลตำรวจเอก วัชรพล  มั่นใจถึงการเดินเครื่องหลักสูตรทุจริตศึกษาอย่างแท้จริงในทุกภาคส่วน อย่างน้อยปีหน้าเราอาจจะเห็นการเปลี่ยนแปลงบุคลากรของคนไทยที่ได้รับการฝึกอบรมหลักสูตรนี้ และ 5 ปีต่อจากนี้งานของประเทศเราแก้ปัญหาทุจริตจะดีขึ้น

 

 

 

 

 

 

 

 
 
 
 

#ร่วมเป็นพลเมืองตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw